..กวนอิมผ่อสักบทสวดมนต์ยินดีต้อนรับทุกท่าน..ครับ

กวนอิม

กวนอิม
กวนอิมปางส่งบุตร ใครที่ไม่มีบุตรควรสักการะปางนี้

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

งานเทศกาล

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวจีน และ ไทยในจังหวัดปัตตานีอย่างดี ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่ว เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย หรือหลังตรุษจีน 14 วัน หรือวันเพ็ญเดือน 3 ตามจันทรคติของไทย จะมีงานฉลองสมโภชเจ้าแม่ ซึ่งจัดเป็นงานฉลองใหญ่โตทุกปี ก็จะมีชาวจีน ชาวไทยเดินทางไปร่วมพิธีกันคับคั่ง มีพิธีดำน้ำ ลุยไฟ กลายเป็นงานที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัดงานหนึ่ง ท่านที่เดินทางไปจังหวัดปัตตานีสามารถจะไปสักการะได้ที่ ศาลเล่งจูเกียง ถนนอาเนาะรู อำเภอเมืองซึ่งมีรูปจำลองของเจ้าแม่ประดิษฐานอยู่ แต่เดิมเป็นศาลเจ้าซูก๋ง ศาลเจ้าเก่าแก่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชากรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. 2117 และอีกแห่งหนึ่งคือที่สุสานเจ้าแม่ที่ตำบลกรือแซะ อยู่ในเขตอำเภอเมืองเช่นกัน ต่อมาได้มีการทำรูปจำลองนำไปประดิษฐานยังศาลเจ้าหรือมูลนิธิต่าง ๆ หลายแห่ง



ตามประวัติเล่ากันว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (หรือสำเนียงแต้จิ๋วว่า ลิ้มโกวเนี้ย) ทางไต้หวันกล่าวว่าเจ้าแม่มีชื่อจริงว่า “ จินเหลียน “ (หรือ “ กิมเน้ย” ในสำเนียงแต้จิ๋ว ) ชาวฮกเกี้ยน มีพี่ชายชื่อ เต้าเคียน หรือ โต๊ะเคี่ยม แต่บางตำนานก็ว่าเป็นชาวเมืองฮุยไล้ แขวงแต้จิ๋ว สมัยพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ ในราชวงค์เหม็งประมาณปี พ.ศ.2065 – 2109 ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เคยรับราชการ ได้ออกผจญภัยในที่ต่าง ๆ สร้างวีรกรรมไว้ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ เมื่อเดินทางมาถึงปัตตานี (สมัยนั้นเรียกว่าเมืองตานี ) โดยได้ นำเครื่องบรรณาการมาถวายเจ้าเมือง ได้พบ และ รักกับธิดาพระยาตานี ต่อมาลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เข้ารีตนับถืออิสลาม และ แต่งงานกับธิดาเจ้าเมืองตานี ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเป็นผู้ที่มีฝีมือในด้านการหล่อโลหะ และ การก่อสร้าง พระยาตานีจึงให้สร้างมัสยิดประจำเมืองให้ยิ่งใหญ่ และสวยงามที่สุด และให้สร้างปืนใหญ่ในเวลาต่อมา ( ชื่อ “โต๊ะเคี่ยม” บ้างก็ว่าเดิมชื่อ “เคี่ยม” เมื่อเข้ารีตเป็นอิสลามชาวบ้านจึงเรียกว่า “ โต๊ะเคี่ยม “ แปลว่าครูเคี่ยม เพราะเป็นช่างฝีมือดี )





ในระหว่างที่มีการก่อสร้างมัสยิดกรือแซะนั่นเอง ก็มีหมู่เรือสำเภามาจอดที่เมืองปัตตานีในครั้งนี้ มีผู้หญิงคุมกองเรือมานั่นก็คือ ลิ้มกอเหนี่ยว น้องสาวของบุตรเขยเจ้ามืองตานี ซึ่งมาตามพี่ชายให้กลับบ้านไปหามารดาที่ชรามากแล้ว แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ไม่ยอมกลับ บอกว่ามัสยิดใกล้เสร็จ หากภารกิจเสร็จก็จะพาภรรยาไปเยี่ยมมารดาพร้อมกัน อ้อนวอนพี่ชายอยู่หลายตลบจนแน่ใจว่าพี่ชายไม่ยอมละความตั้งใจแล้ว ด้วยความเด็ดเดี่ยว ลิ้มกอเหนี่ยวจึงออกจากที่พักเดินทางมาถึงบริเวณที่ก่อสร้างมัสยิดกรือแซะ ได้ผูกคอตายที่กิ่งมะม่วงหิมพานต์ต้นใหญ่ และ ทิ้งจดหมายให้พี่ชายไว้ดูต่างหน้า




ลิ้มโค๊ะเคี่ยมได้จัดการศพน้องสาวโดยฝังไว้ในฮวงซุ้ยที่สร้างขึ้นที่ใกล้ ๆ มัสยิดกรือแซะที่เขากำลังสร้างอยู่นั้นเองแต่ยังไม่สำเร็จ จะด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบได้ ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้เดินทางไปที่กองหล่อปืนใหญ่ที่อยู่ใกล้กันและเขาเป็นแม่กองหล่อปืนอยู่ด้วย ไปยืนปลงอยู่หน้ากระบอกปืนใหญ่ที่สร้างขึ้น และจุดชนวน ลิ้มโต๊ะเคี่ยมจึงจบชีวิตตรงนั้นเอง ซึ่งหนึ่งในกระบอกที่ยังเหลืออยู่ก็คือ ปืนใหญ่นางพญาตานี ปืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่หน้ากระทรวงกลาโหม





ที่สุสานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้น มีชาวปัตตานีได้มากราบไหว้ และ บนบานศาลกล่าว ปรากฏว่าต่างก็สมหวังไปตาม ๆ กัน ผู้คนจึงร่ำลือโจษจรรย์ไปทั่วปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลมาจากทุกสารทิศ ต่อมา มีผู้ตัดกิ่งมะม่วงหิมพานต์ต้นที่เจ้าแม่ผูกคอตายไปสลักเป็นรูปเจ้าแม่ตั้งอยู่ในศาลไม้เล็ก ๆ ข้างสุสานให้กราบไหว้บูชาด้วย ประมาณ 5 – 60 ปีที่ผ่านมานี้ พระจีนคณานุรักษ์ (ตันจูหลาย ต้นสกุล “คณานุรักษ์”) หัวหน้าชาวจีนในเมืองปัตตานี เห็นว่าที่สุสานซึ่งอยู่นอกเมืองไม่สะดวกในการไปกราบไหว้ จึงได้อัญเชิญรูปจำลองของเจ้าแม่มาอยู่ที่ “ศาลเจ้าเล่งจูเกียง “ ที่บูรณะจากศาลเจ้าซูก๋งให้กว้างขวาง ศาลเจ้าแห่งใหม่นี้ มีผู้คนเดินทางมาสักการะบูชาจากทุกทิศทุกภาคของประเทศ จนคณะกรรมการที่ช่วยกันดูแลได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ ปัจจุบันนี้ สามารถขยายพื้นที่ สร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นอันมาก มีลานหน้าศาลกว้างขวาง มีอัฒจรรย์สำหรับชมพิธีลุยไฟ และมีโอ่งน้ำยักษ์ทาสีแดงสด สามารถจุน้ำได้ 9 หมื่นลิตร ซึ่งก็ล้วนมาจากอภินิหาร และ บารมี ที่มาจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั่นเอง




ในการเซ่นไหว้สักการะเจ้าแม่ นอกจากเครื่องกระดาษธูปเทียน นัยว่าท่านโปรดผ้าแพรสีแดง และ สร้อยมุก สร้อยมุกนั้นที่ปฏิบัติกันอยู่ก็คือ เมื่อไหว้ และ อธิฐานแล้ว ก็จะนำไปคล้องที่ศอเจ้าแม่ทั้ง 2 เส้น และ นำคืนมา 1 เส้นคล้องคอผู้ไหว้นำกลับไปบูชาที่บ้าน



ตรุษจีน หรือ “ชุงโจ้ย “( 春 節 ) คือวันที่ปราชญ์ชาวจีนแต่โบราณกำหนดให้ เป็นวันเริ่มต้นในรอบปี ตามปฏิทินจันทรคติของจีน นอกจากเป็นวันเริ่มต้นของปีแล้ว ยังเป็นวันเปลี่ยนจากฤดู “ตังที” “ ตง ที”( 冬 天 ) อันหนาวเหน็บ เข้าสู่ ฤดู “ชุงที ”( 春 天 ) ที่มีแต่ความสุขสดชื่น อบอุ่นมีชีวิตชีวา สรรพสัตว์ตื่นจากจำศีล ผลประกอบการทางการค้าที่มีกำไรส่งให้มีการจ่ายเงินรางวัลแก่ลูกจ้าง และคนในครอบครัว วันตรุษจีน จึงเป็นวันแห่งความสุขเกษมเปรมปรีดิ์ในรอบปี มีการฉลองอย่างสนุกสนาน ใหญ่โต มีสีสัน อย่างที่ทราบกัน คนจีนเป็นผู้ที่ขยันขันแข็ง ทำงานเช้ายันค่ำทุกวันแทบไม่มีวันหยุด ปีละกว่า 300 วัน จะมีวันหยุดที่เป็นล่ำเป็นสันก็ช่วงตรุษจีนประมาณ 5 วันเท่านั้น เขาจึงใช้เวลาเหล่านั้นไปบำรุงบำเรอความ สุขตนอย่างเต็มที่ จับจ่ายใช้สอย เช่นซื้อเสื้อผ้า อาหารอย่างดี เที่ยวเตร่ เป็นต้น


วันตรุษจีน มีมาแล้วประมาณ 3,600 ปี หลักฐานทางประวัติศาสตร์ ปฏิทินจีนนั้นกำเนิดขึ้นเมื่อ 980 ปีก่อนพุทธกาล สันนิฐานว่า ตรุษจีนก็คงเริ่มมาในเวลาไล่เรี่ยกัน

ช่วงของเทศกาลตรุษจีน ต่อเนื่องมา ตั้งแต่วันสุดท้ายของเดือน 12 ของปฎิทินจีน ( แต่ไม่เสมอไปอาจเป็นวันอื่น แต่ละปีจะไม่ตรงกัน และเหตุที่ใช้คำว่า ”วันสุดท้าย” เพราะเดือน ของจีนมีทั้ง 29 วัน หรือ 30 วัน ไม่กำหนดแน่นอน )

แต่พอผ่าน วันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคม (ตรงนี้ต้องใช้เดือนของเทศประกอบ) เป็นวัน “ตังโจ้ย” ( 冬 節 ) หรือเทศกาลกิน ” อี๊”( 圓 ) ขนมบัวลอย ผู้ที่ผ่านวันนี้ไปแล้วพึงจำไว้ ท่านมีอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 ขวบ ” อี๊” ส่วนหนึ่งจะเอาไปติดไว้ตามตู้กับข้าว ผนัง ตามข้างเตาไฟ จุดอื่นในห้องครัวบ้าง ในช่วงนี้จนถึงสิ้นปี จะมีงิ้วแก้บน ที่เรียกว่า งิ้ว “ เสี่ยซิ้ง “ ( 謝 神 ) กันแทบทุกศาลเจ้า ศาลพระภูมิ หรือ โรงเจ เยอะมาก ความจริงบางแห่งอาจมีมาก่อนหน้านี้แล้ว

เหตุที่ต้องใช้เดือนของเทศประกอบเนื่องจากการคำนวณวัน “ตังโจ๊ย” ถือเอาวันที่เวลากลางวันสั้นที่สุดของปี ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูหนาวของประเทศจีน หรือประเทศซีกโลกทางเหนือ วันที่ที่กำหนดว่าเป็นวัน“ตังโจ๊ย” ให้ดูจากปี ค.ศ. ปีที่หารด้วย 4 ลงตัวหรือปีที่เดือน กุมภาพันธ์มี 29 วัน “ตังโจ๊ย” จะเป็นวันที่ 21 ธันวาคม

จากนั้นก็จะถึงวันที่ 24 ของเดือน 12 เป็นวัน “ซิ๊งเจี่ยที “ (神 上 天 ) ไหว้ส่ง เจ้าเตาไฟ “เจ่าซิ้ง” ( 灶 神 ) ขึ้นไปเฝ้าองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ บนสวรรค์ เพื่อรับเลี้ยงตรุษจีน และ เพ็ดทูลความเป็นไปของโลกมนุษย์ ความดีความชั่วของชาวบ้านต่าง ๆ เง็กเซียนฮ่องเต้ก็รู้กันตอนนี้ จะได้นำไปคิดบัญชีต่อไป คนจีนเลยไหว้เจ้าในวันนี้ด้วย “ขนมหวาน หรือ ขนมบัวลอย ” ที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว โรยน้ำตาล แผ่นบาง ที่หวาน และ เหนียว เป็นการทำให้เทพเตาไฟเพ็ดทูลเรื่องความไม่ดีในโลกมนุษย์ได้ไม่ถนัดปาก เพราะขนมติดปาก หรือ รับสินบนชาวบ้านมา แล้วโดยไม่รู้ตัว มิใช่มีแค่เจ้าเตาไฟเท่านั้นที่ขึ้นไปเฝ้า เทพที่มีฐานะต่างก็ต้องขึ้นไปเฝ้าแหนเช่นกัน เช่น เจ้าที่ ตี่จู๋เอี๊ย เป็นต้น

หลังจากวันส่งเจ้าแล้ว ชาวบ้านจะพากันทำความสะอาดบ้านเรือน ห้องหอ เป็นการขนานใหญ่ เตรียมไว้รับสิ่งดี ๆ ใหม่ ๆ ในวันตรุษจีนกัน บ้างก็จะทาสีบ้าน ติดกระดาษสีแดงมีตัวอักษรจีนสีทอง ติดประตูทางเข้าบ้านข้างละแผ่น เรียกว่ากระดาษ “ กลอนคู่ “ “ ตุ้ยเลี้ยง “ ( 對 聯 )หรือ คำอวยพรง่าย ๆ เช่น “ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้ “ ศกใหม่ให้สมดังหวัง ปีใหม่ให้มั่งคั่งร่ำรวย หรือ กลอนอื่น ๆ ที่เป็นศิริมงคล ช่างเขียนอักษรจีนจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำในช่วงนี้ เมื่อ 4 – 50 ปีก่อน มีผู้ประดิษฐ์อักษรจากลวดลายต่าง เช่นนก ผีเสื้อ ต้นไม้ ใบไม้ และ เดินไปเขียนให้ตามบ้านเรือนทั้งใน กทม. และ ต่างจังหวัด

ไคลแม็กซ์จริง ๆ เทศกาลตรุษจีน เริ่มตั้งแต่ก่อนวันตรุษจีน 2 วัน เรียกว่า “วันจ่าย” เป็นวันที่แม่บ้านพ่อบ้านต้องไปจับจ่ายหาซื้อเครื่องเซ่นไหว้ อาหารการกินเตรียมไว้ช่วงตรุษจีนที่ร้านรวงปิดกันเป็นส่วนใหญ่ พอถึงวันสุดท้ายของเดือน 12 ซึ่งนิยมเรียกว่า “ซาจับ” (三 十) แม้บางปีจะเป็นวันที่ 29 จะเป็น “วันไหว้” เริ่มกันตั้งแต่ช่วงเช้า จะเป็นการไหว้เจ้าที่ ( ตี่จู๋เอี๊ย ) ศาลพระภูมิ ไหว้บรรพบุรุษตอนสาย ตกบ่ายไหว้ “ หอเฮียตี๋ ” (好 兄 弟) ผี – วิญญาณไร้ญาติ สัมภเวสี ที่ล่องลอยไปมาคอยรับส่วนบุญ ซึ่งเป็นการ สะท้อนถึงจิตวิญญาณของชาวจีนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม้กับวิญญาณคนตายที่ตนไม่รู้จัก จากนั้น ก็จะมีการแจกเงินก้นถุง แก่บรรดาลูกหลาน บริวาร ใส่ซองแดงเรียกว่า “ อั่งเปา ” ( 紅 包 )(เงินแต๊ะเอีย เงินโบนัส แล้วแต่จะเรียก ) แล้วกิจการงาน การค้าจะสะดุดอยู่ตรงนั้นไปอีกหลายวัน เงินอั่งเปานี้สมัยก่อน เด็ก ๆ จะได้สตางค์แดง หรือ สตางค์ดีบุก ตั้งแต่ 1 สตางค์ ไปจนถึง 20 สตางค์ ที่เป็นเหรียญมีรูตรงกลาง ร้อยด้าย - เชือกสีแดง ปัจจุบันเป็นแบ๊งค์สีต่าง ๆ ใส่อยู่ในซองสีแดงสดใส

“ ซาจับแม้ “ ( 三 十 夜 ) คืนวันสุกดิบ คืนวันสุดท้ายของเดือน 12 ต่อวันตรุษจีน “ชิวอิก ”(初 一)ซึ่งเป็น “ วันถือ ”หัวค่ำชาวจีนจะพากันอาบน้ำชำระร่างกาย ไหว้พระไหว้เจ้า เตรียมตัวรอรับ “ ไฉ่สิ่งเอี๊ย ” ( 財 神 爺 ) เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย หรือ เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เทพเจ้าแห่งเงินตรา เพื่อความเป็นศิริมงคล มีความร่ำรวยยิ่ง ๆ ขึ้นไปในปีใหม่


“ไฉ่สิ่งเอี๊ย” เทพเจ้าแห่งโชคลาภ โชคดี หรือ เทพเจ้าเงินตราจะเสด็จมาให้โชคลาภแก่มวลมนุษย์ในช่วงยามแรก ๆ ของปี ระหว่าง 5 ทุ่มถึง ตี 4 แต่จะมีทิศทาง และ เวลาที่เสด็จมาต่างกัน อย่างปี 2553 จะเสด็จมาในวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ ทางทิศตะวันออกเฉียงไต้ เริ่มไว้ตั้งแต่เวลา 23.00 สิ้นสุดไม่เกิน 24.59 น.ผู้ที่จะไหว้ต้องนำเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นผลไม้ ขนมต่าง ๆ เช่น ไต่กิก (ส้ม) อี้ (บัวลอย) ขนมจันอับ อาหารเจ 5 อย่าง น้ำชา ธูป ทองเท่ง เงินเท่ง เทียนเถ่าจี๊ หันหน้าไปหาทิศที่ท่านจะเสด็จ ผ่านมา เพื่อขอพรจาก “ไฉ่สิ่งเอี๊ย” ท่านเป็นเทพเจ้าที่มีเมตตาให้ทั้งโชคลาภ และ ปกป้องโพยภัยต่าง ๆ

“ ชิวอิก ” เป็น “ วันถือ ” หรือ “ วันเที่ยว “ เป็นวันที่เขาถือกันว่าจะไม่ด่า ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่นินทาว่าร้าย คิด ห้ามทวงหนี้ ให้ทำแต่สิ่งที่ดี พุดดี ใช้มธุรสวาจา พูดสิ่งร้ายให้กลายเป็นดี ไม่ตีแม้แต่ลูก หลานที่ทำความผิด เวลาลูกหลานทำสิ่งของแตก ก็อาจจะพูดว่า อ้อ...ดีดี ชามมันอ้าออกเพื่อรับโชคลาภ เป็นต้น อาหารเช้าจะเป็นอาหารเจ 1 มื้อ หลังจากนั้น หมู เห็ด เป็ด ไก่บรรดามีที่ใช้ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษก็จะนำมาปรุงเป็นอาหารรับประทานต่อไปอีกหลายวันโดยไม่ต้องออก ไปซื้อหา วันชิวอิก ถึง ชิวซา ( 初 三 ) หรือ ในระหว่างช่วงตรุษจีน ก็จะมีการไปมาหาสู่ในระ หว่างญาติมิตร ที่ไม่ได้พบกันมาตลอดทั้งปี หรือ ไปขอพรพ่อแม่ เป็นต้น เวลาไปเยี่ยมต้องนำ “ ไต่กิก “ ( 大 桔) ผลส้มไป 2 หรือ 4 ลูก หรือ ขอให้เป็นจำนวน “ คู่ “ และจะมีการแลกเปลี่ยนส้มกัน โดยผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านจะรับส้มไปครึ่งหนึ่ง หรือ ทั้งหมด และนำส้มในบ้านมาใส่กลับไปในจำนวนเท่า ๆ กัน เป็นการรับ-ส่งความสุขซึ่งกันและกัน เจ้าของบ้านจะเลี้ยงน้ำชาแกล้ม “ แต่เหลี่ยว หรือ ขนมจันอับ “ หรือ “ จับกิ้ม “ ( 什 錦 ) แก่ญาติมิตรที่มาเยี่ยมเยียนอวยพร วันตรุษจีนเป็นช่วงที่เด็ก ๆ จะชอบมากเป็นพิเศษ เนื่องจากได้ทั้งเงินแตะเอีย มีเครื่องแต่งกายใหม่ ๆ สีสันสดใส ยังได้ไปเที่ยวสนุกสนานตามแหล่งที่หมายตาไว้อีกด้วย สีเสื้อผ้าที่สวมใส่จะเป็นสีที่เป็นมงคลเช่น สีแดง และไม่ใส่สีที่เป็นอัปมงคล เช่น สีดำเป็นต้น หากหลีกเลี่ยงได้จะไม่แตะต้องของมีคม เช่นมีด เข็ม เกรงว่าจะบาดนิ้ว บาดตัว เป็นการตัดโชคลาภของตนเอง และไม่ทำสิ่งของแตกหักเสียหายอันจะเป็นลางไม่ดี

หลังเยี่ยมญาติ ความสนุกสนานก็จะเป็นสิ่งที่เขาทำกันเต็มสติกำลัง บ้างก็ไปทำบุญทำทานตามศาลเจ้า โรงเจที่ตนนับถือ พากันถ่ายรูปกันทั้งครอบครัวเป็นที่ระลึก จนถึงชิวสี่ ( 初 四 )หรือ ชิวโหงว ( 初 五) จึงจะกลับมาก้มหน้าก้มตาทำงานทำการกันต่ออีก 300 กว่าวันเพื่อเก็บเงินเก็บทองไว้ฉลองตรุณจีนในปีต่อไป

“ ชิวสี่ “ วันที่สี่ของเทศกาลตรุษจีน ที่ส่วนใหญ่กำหนดให้เป็นวันเริ่มงาน เป็นวันที่ รับ “ เจ่าซิ้ง” เทพเจ้าเตาไฟ และ เทพเจ้าองค์อื่น ๆ กลับจากเข้าเฝ้าองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ เรียกว่าวัน “ซิ้งเลาะที” ( 神 下 天 )

“ชิวฉิก” ( 初 七 ) วันที่ 7 ของเทศกาลตรุษจีน เป็นวันที่กำหนดให้มีการรับประทานอาหารประเภทผัก 7 อย่าง ที่เรียกว่า “ชิกเอี่ยไฉ่” (七 樣 菜 ) ซึ่งโดยมากจะเอาผักต่าง ๆ มาผัด หรือ ต้มจับไฉ่ ผักนานาชนิดที่นำมาเป็นเครื่องปรุงในวันนี้จะสรรค์หาผักที่มีชื่อ และความหมายที่เป็นมงคล อาจจะเปลี่ยนแปรไปบ้างแล้วแต่รสนิยม และ ความเชื่อ หรือ ผลิตผลในแต่ละท้องถิ่น บ้างก็ถือเอาวันที่ 6 เรียก “ หลักเอี่ยไฉ่ “แต่ในเมืองไทย ต้อง“ฉิกเอี่ยไฉ่“

ผักมงคล 7 อย่าง โดยมากจะประกอบด้วย

1. คึ่งไฉ่ 芹 菜 ไปพ้องเสียงกับ “ คึ้ง “ ( 勤 ) แปลว่ามีความเพียร วิริยะ ขยัน

2. ชุงไฉ่ 春 菜 พ้องกับคำว่า “ ชุง ” ( 春 ) ฤดูใบไม้ผลิ หมายถึงความสดชื่นมี ชีวิตชีวา อีกคำหนึ่ง 伸 ชุง แปลว่า ยืด หรือ ยื่นที่ถูกดึงไปเข้ากับความหมายว่า มีโอกาศยืดหน้า ยืดตากับเขาได้บ้าง

3. เก่าฮะ เก๋าฮะ 厚 合 ผักเขียว ๆ ใบหนา ๆ ความหมายคือ ความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือ เจ้าสาวที่แต่งงานไปในครอบครัวคนจีนที่ยังเคร่งอยู่ก็จะได้รับประทานผักตัว นี้ เพื่อให้ซื่อสัตย์ต่อสามี ส่วนคนไทยเชื้อสายจีน ดึงมาเป็นพวกเสียเลย เก๋าจึงเป็นศัพย์แสลง แปลว่า แน่ แปลว่า ผู้ชำนาญการ เช่น เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง เป็นศูนย์หน้าที่ “ เก๋าเกมส์ ” เป็นต้น แต่บางครั้งผัก เก๋าฮะ นี้ เขาก็ใช้ แป๊ะฮะ 百合 แทนก็มี ซึ่งก็แปลว่าเป็นผู้ที่เข้าได้กับทุกคน เข้าได้ กับทุกสถานะการณ์พ้องเสียงกับคำว่าสมานฉันท์ เข้าได้หมดไร้ปัญหา NO PROBLEM

4. สึ่ง 蒜 ต้นกระเทียม พ้องเสียงกับคำว่า “ สึ่ง “ ( 算 ) แปลว่า “นับ” คนจีนถือว่า คนนับเลขเป็นก็จะเป็นพ่อค้าพ่อขายจะร่ำรวย

5. ตั้วไฉ่ 大 菜 ผักกาดเขียว มีความหมายว่าใหญ่โต ยิ่งใหญ่

6. ไช่เท้า 菜 頭 เป็น “ อาเท้า “ เป็นหัวหน้า คือได้เป็น เจ้าคนนายคน หรือไปพ้องกับ “ไช้” ( 財 ) แปลว่า โชคลาภ มีลาภ

7. คะน้า 甲 藍 หมายถึงที่หนึ่งในตะกร้า คำว่า“ กะ”( 甲 )เมื่อไปผสมกับ คำว่า ประเทศ หรือ โลก ก็แปลว่ายอดเยี่ยม เป็นที่หนึ่งในโลก จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมต้องเป็นผักตัวนี้

ชื่อผักชนิดต่าง ๆ ข้างต้น ต้องบอกไว้ในที่นี้ว่า เป็นเรื่องของคนไทยเชื้อสายจีนที่มีอิทธิพลของความเชื่อของจีนแ ต้จิ๋ว เข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก เพราะบางชื่อหากผิดไปจากเมืองไทยแล้ว ชาวจีนอื่นเขาอาจมีผักตัวอื่น มาแทนกัน


การกำหนดให้รับประทานผัก 7 อย่าง น่าจะเป็นกุศโลบายของนักปราชญ์แต่โบร่ำโบราณ การที่จะบอกให้คนที่รับประทานหมูเห็ดเป็ดไก่ ร่ำสุรา มาตลอดเป็นเวลาหลายวัน ไปถ่ายท้องเสียบ้าง คงมีคนเชื่อยาก เลยหากลวิธีให้กินผักซึ่งมีกากใย มากจะได้มีสุขภาพดี เลยให้กำหนดเป็นอาหารผัก แต่แนะนำอย่างเดียวคงยากเลยลากบาลีเข้าวัดเสียเลยจะได้ขลัง ให้ออก ไปทางมงคลเสียบ้าง คนเราชอบอะไร ๆ ที่เป็นสิ่งดี ๆ จึงถือเป็นประเพณีที่ต้องกินผัก7 อย่างที่เป็นศิริมงคล กันมาตั้งแต่โบราณ

ช่วงปีใหม่จะมีวันสำคัญอีก 1 วันคือ “ชิวเก้า “ ( 初 九 ) ถือเป็นวันเกิดเทพยดาฟ้าดิน เรียกว่าวัน “ ทีกงแซ “ ( 天 公 生 ) ในคืนวันที่ 8 เรียกว่า “ชิวโป๊ยแม้” ( 初 八 夜 ) ช่วงเวลา

ใกล้เที่ยงคืนต่อวันที่ 9 มีพิธีบูชาดาวนพเคราะห์ หรือ ดาวประจำวันเกิด ในวันนี้บางแห่งจะมีการบูชาเทพยดาฟ้าดิน เพื่ออธิษฐาน หรือ “ บน “ ขอพรสะเดาะเคราะห์ในช่วงปีใหม่ ดังเช่น ที่ป่อเต็กตึ๊งจัดให้มีการลงชื่อ “พะเก่ง “ (拍敬)หรือ “ฮกเก่ง”( 福 敬 ) ในช่วงตรุษจีน จน ถึงวันง่วงเซียว ( แล้วจะต้องไป “แก้บน “ ในช่วงปลายปีประมาณเดือน 11 ที่ศาลเจ้าหลายแห่งจะจัดให้มีงิ้วแก้บน ที่เรียกกันว่า “ เสี่ยซิ๊ง “ เรียกว่า “ขอบคุณพระเจ้า” อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรก )พุทธศาสนิกชนจะทำบุญ และ เวียนเทียน เวียนธูป อธิษฐาน รอบอุโบสถ หรือ ศาลเจ้า 3 รอบ ตั้งจิตอธิษฐาน ระลึกพระคุณเทพยดาฟ้าดิน ขออำนาจฟ้าดินเป็นที่พึ่ง ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เช่น หลวงปู่ไต้ฮง ช่วยดลบันดาลให้ประสบโชคดีตลอดปีใหม่ บางแห่งอาจมีการแจกของหวาน เป็นการเสร็จพิธี ใครที่ไปเที่ยวไกล ๆ ก็จะพากันกลับมาในวันนี้ วันชิวเก้า หรือ วันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีน ก็จะมีการทำบุญที่เป็นกิจกรรมของตรุษจีนไปจนถึงมืดค่ำ

อย่างไรก็ตาม งานเทศกาลตรุษจีนหาได้หยุดลงในวันที่ 9 ไม่ กิจกรรมทำบุญยังคงมีต่อเนื่อง แต่ไม่เอิกเกริก ตรุษจีนจะไปสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงในวันเทศกาล “ง่วงเซียว” ( 元 宵 ) หรือ เทศกาลชาวนา (พิธีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าเป็นพิธีของคนสังคมการเกษตรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปฏิทินตามจันทรคติจีนนั้นมีชื่อเรียกว่า “หล่งและ” 農 曆 แปลตรงตัวว่า ปฏิทินการเกษตร ) เป็นวันที่ 15 ของเดือน 1 คือ “ เจียง้วยจับโหงว” ( 正 月 十五 ) แล้ว เพราะหลังจากนี้แล้ว ก็จะเป็นเวลาที่ต้องกลับไปทำนาในท้องไร่ท้องนา ศาล เจ้าต่าง ๆ จะมีการประมูลสิ่งของที่ ประธานจัดงานจัดหามา เพื่อนำเงินไปบูรณะศาลเจ้า หรือ นำไปทำทานต่อไป บางแห่ง ไม่มีการประมูลสิ่งของเช่นที่ศาลเจ้าไต้ฮงกง ก็จะมีขนมหวาน น้ำตาลทราย หรือน้ำตาลผสมถั่วลิสงปั้นเป็นรูปสิงโต สำหรับบูชาไว้บริการให้กับญาติโยมที่มาทำบุญ บ้างก็เอามาทำบุญเพิ่มขึ้นอีก 1 คู่จากที่ปีที่ผ่านมาได้รับขนมสิงโตไปบูชาที่บ้าน 1 คู่ เพื่อให้ศาลเจ้าไว้บริการให้ผู้ที่ประสงค์จะมาทำบุญ เป็นการหารายได้เข้าวัด เข้าศาลเจ้าอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งแล้วแต่นโยบายของแต่ละแห่ง หลังจากวัน “ง่วนเซียว 元 宵” ผู้คนที่ทำมาค้าขาย เป็นลูกจ้างก็จะเริ่มดำเนินกิจการค้ากันอย่างเต็มที่ เพราะเสร็จสิ้นกระบวนการของ “ตรุษจีน” แล้วโดยสมบูรณ์ บางแห่งจะมีงิ้วฉลองขึ้นปีใหม่ จึงจะถือว่าสมบูรณ์ก็มี


ซิงเจียยู่อี่ ซิงนี้ฮวกไช้ 新 正 如 意 - 新 年 發 財

ปีใหม่ขอให้สมความปรารถนา ปีใหม่ขอให้มีโชคลาภ


เทศกาลกินเจ ตรงกับช่วงระยะเวลา วันที่ 1 เดือน 9 ถึงวันที่ 9 เดือน 9 ตามจันทรคติ ของ ปฏิทินจีน ผู้คนส่วนหนึ่งจะไม่กินเนื้อสัตว์ ทำให้ได้ช่วยชีวิตสัตว์ไว้ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีการฆ่าสัตว์น้อยลง ผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจะพากันสละกิจโลกียวัตร และ พากันเข้าวัดวาอารามบำเพ็ญศีลสมาทาน กินเจ คือ บริโภคแต่อาหารจำพวกพืชผัก และ ผลไม้เป็นหลัก ละเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งการเบียดเบียนเดือดร้อนให้เกิดแก่สัตว์โลก คือการไม่เอา ชีวิต เลือด เนื้อของสัตว์โลกให้มาเป็นของเรา พากันซักฟอกมลทินออกจากร่างกาย วาจา และ ใจ สวมเสื้อผ้าขาวสะอาด เข้าวัดเข้าวา พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียน ทำบุญทำทานแก่สัตว์โลกผู้ยากไร้ ถือศีลกิจเจเป็นเวลา 9 วัน


เทศกาลกินเจ สำหรับปีนี้ ตรงกับวันที่ 29 กันยายน ถึง 7 ตุลาคม 2551 แต่พุทธบริษัทจีน และ ผู้ถือศีลกินเจ จะมีการชำระกระเพาะให้สะอาดก่อน โดยการกินเจในมื้อเย็นก่อนวันจริง 1 มื้อ และ มื้อเช้าหลังวันที่เก้าขึ้น 9 ค่ำอีก 1 มื้อเป็นการลา ซึ่งจะเป็นวันส่งเจ้า ในช่วง 9 วันนี้ ทุกวันคี่ จะถือเป็นวันเจใหญ่ พุทธบริษัทจะไปทำบุญ และ กินเจที่ศาสนสถาน นอกนั้นจะถือศีลกินเจที่บ้าน






ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง กำหนดรับเจ้าในวันที่ 28 กันยายน 2551จากนั้น มีพระสงฆ์ประกอบพิธีสวดคาถามหามงคลทุกวัน กำหนดการอื่น ๆมีดังนี้ / พิธีเบิกเนตรองค์ยมทูต และพิธีลอยกระทง ในวันที่ 4 ตุลาคม / มีพิธีทิ้งกระจาดในศาลเจ้าไต้ฮงกงตอนช่วงบ่าย / พิธีเวียนเทียนรอบศาลเจ้าในตอนหัวค่ำ / วันที่ 8 ตุลาคม เป็นวันส่งเจ้าในช่วงเช้า สิ้นสุดช่วงเทศกาลกินเจประจำปี

เทศกาลกินเจ เก๋าอ่วงเจ หรือ กิ๋วอ่วงเจ แล้วแต่จะออกเสียง เป็นพิธีกรรมที่พุทธบริษัทไทยเชื้อสายจีนถือปฏิบัติมาแล้วนับสิบ นับร้อยปี โดยทั่วไป ผู้ที่จะเข้าสู่เทศกาลนี้ จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมพอสมควร ผู้ที่ถือเคร่ง จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีขาวบริสุทธิตลอดทั้งเทศกาล นอกจากจะกินเจเคร่ง คือการไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นหอม หรือ เผ็ดร้อนอันจะนำมาซึ่งกามกิเลศ เช่น หัวหอม กระเทียม ไม่กินแม้กระทั่งน้ำนม ซึ่งผู้กินมังสะวิรัติ บางส่วนจะถือว่าน้ำนมนั้นกินได้ จะไม่ข้องแวะทางโลกีย์วิสัย คิด และ ทำแต่สิ่งที่ดี ระมัดระวังสำรวมในการพูดจา ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้อยู่เพียงแค่นั้นว่า เมื่อถึงเทศกาลนี้ ต้องทำอย่างนี้ แต่จะทราบถึงเหตุที่มาแห่งเทศกาลนี้คงมีเพียงน้อยนิด แต่ที่มาแห่งเทศกาลกินเจนั้นไม่ได้มีมาแต่ความเชื่ออย่างเดียว มีที่มาหลากหลาย ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้



เทศกาลกินเจ มาจากคำบอกเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นเชิงปรำปรา และ มาจากคำสอน ความเชื่อทางศาสนาพุทธ ฝ่ายนิกายมหายาน เป็นกุศโลบายให้คนทำความดี เหมือนเช่นเรื่องอื่นๆ แต่คนรุ่นหลังได้มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งพิธีการ เพื่อให้เกิดความขลัง ให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงทำให้กลายเป็นพิธีการที่ต้องใช้เงินใช้ทองมากมายในการประกอบพิธีให้ครบถ้วน

เทศกาลตรุษจีน หากจะถือตามนิยายปรำปราอิงประวัติศาสตร์ในปลายราชวงศ์ซ้อง ซึ่ง บันทึกไว้ในหนังสือ “ประวัติวัฒนธรรมจีน” เรียบเรียงโดย ล.เสถียรสุต เล่าไว้ว่า กษัตริย์องค์สุดท้ายมีพระชนม์ชีพเพียง 9 พรรษา เสด็จหนีพวกมงโกลไปยังเกาะไต้หวัน แต่ได้สิ้นพระชนม์ชีพที่กลางทะเลนั่นเอง ข้าราชบริพาร พากันแต่งกายไว้ทุกข์ และ จัดพิธีทางศาสนาพุทธเป็นการอำพราง แต่สิ่งของต่าง ๆ ในพิธีเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่กษัตริย์จีนใช้ และ ในพิธียังใช้ราชาศัพท์ ชาวจีนแต้จิ๋วที่เดินทางมาจากฮกเกี้ยนที่ซึ่งกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ซ้องเหยียบแผ่นดินเป็นแห่งสุดท้าย ได้นำพิธีดังกล่าวมาประเทศไทยด้วย ซึ่งชาวแต้จิ๋วในประเทศจีนเองไม่มีพิธีนี้



อีกความเชื่อหนึ่ง มาจากการบูชาดาวนพเคราะห์ทั้งปวง ตามความเชื่อในพุทศาสนาฝ่ายมหายานของจีน ที่ถือการทำบุญทำทานแก่ผู้ยากจน เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ เชื่อกันว่าการกินเจนั้นให้ผลดีทางด้านจิตใจ เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ ได้แผ่เมตตา กรุณา ช่วยชีวิตให้สัตว์ให้รอดตายได้จริง ๆ จากตอนหนึ่งในหนังสือ “ประวัติการกินเจ” ของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ พิมพ์โดยโรงเจฮั่วเฮียง ท่านกล่าวถึงประวัติการกินเจเดือนเก้าจีนไว้มีใจความว่า



พิธีการกินเจเดือนเก้าตามปฏิทินจีนทุก ๆ ปี มีกำหนด 9 วันนั้น ลัทธิมหายานในพุทธศาสนามีอรรถาธิบายว่า เป็นการประกอบพิธีกรรมสักการบูชาพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ กับ พระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรือ นัยหนึ่งคือ “ดาวพระเคราะห์ทั้ง 9” ซึ่งในพระสูตร “ปั๊กเต้าโก้วฮุดเซียวไจเอี่ยงซิ่วเมียวเกง”ได้เอ่ยนามไว้ และได้แบ่งภาคต่อ ๆ มาเป็น ดาวนพเคราะห์คือ


ดาวไท่เอี๊ยงแช คือ พระอาทิตย์
ดาวไท่อิมแช คือ พระจันทร์
ดาวฮวยแช คือ ดาวพระอังคาร
ดาวจุ้ยแช คือ ดาวพระพุทธ
ดาวบักแช คือ ดาวพฤหัสบดี
ดาวกิมแช คือ ดาวพระศุกร์
ดาวโถ่วแช คือ ดาวพระเสาร์
ดาวลอเกาแช คือ พระราหู
ดาวโกยโต๋วแช คือ พระเกตุ
เทพเจ้าทั้ง 9 องค์ ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์พุทธบริษัทจีนจึงพากันเรียกว่า “ เก๋าอ๊วง “ หรือ “กิ๋วอ๊วง” หมายถึง นพราชา

เมื่อถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ตามจันทรคติจีน เทพเจ้าทั้ง 9 จะผลัดเปลี่ยนกันมาตรวจโลก คอยให้คุณให้โทษแก่ประชาชนทั่วไป ด้วยความที่เทพเจ้าทั้ง 9 ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาคุณ ควบคุมให้ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ทางธรรม สอดส่องควบคุมทุกข์สุขของสัตว์โลกด้วย บัณฑิตโบราณจึงบัญญัติไว้ว่า การทำพิธีกรรมบูชาดาวนพเคราะห์ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ ให้พุทธบริษัทมาประชุมบำเพ็ญกุศลวัตรถวายพุทธบริโภค รักษาศีล สดับฟังพระอภิธรรม และ ธรรมเทศนา บริจาคไทยทาน ทิ้งกระจาด และ ลอยกระทงแผ่กุศลแก่สัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากในนรกอเวจี อันมีเปรตอสูรกายเป็นอาทิ และ ทำการปล่อยนกปล่อยปลา เต่า เป็นต้น

ส่วนความเชื่ออันเป็นที่มาของการถือศีลกินเจของภาคใต้ โดยเฉพาะที่ภูเก็ตนั้น มีที่มาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และ พระโพธิสัตว์เช่นกัน และ มีชื่อพระพุทธเจ้าต่างออกไปบ้างแต่สุดท้ายก็แบ่งภาคมาเป็น นพราชาเหมือนกัน เบื้องต้น มาจากแคว้น กังไส พระราชโอรสทั้งเก้าเสียชีวิตในสงคราม และจุติเป็นวิญญาณอมตะเที่ยวสอดส่องดูแลทุกข์สุขของชาวเมืองกังไส และได้แนะนำให้เศรษฐีผู้ใจบุญให้ถือศีลกินเจ ผลไม้ 5 อย่าง ผัก 6 อย่าง พร้อมกับจุดตะเกียง 9 ดวง อันหมายถึงพระราชโอรสทั้ง 9 พระองค์ ในระหว่างกินเจ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามของคาวทุกชนิด ห้ามดื่มของมึนเมาเป็นต้น เศรษฐีเห็นว่าพระราชโอรสได้สอนและหายตัวไปในวันที่ 1 เดือน 9 จึงได้กินเจวันดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาคณะงิ้วผ่านมาเห็นเป็นเรื่องน่ารู้จึงนำเรื่องราวไปแต่งเติมและเล่นงิ้วเผยแพร่ไปทั่ว พิธีกินเจที่คณะงิ้วนำไปแสดงนั้นมีกำหนดพิธีการต่าง ๆ เป็นขั้นเป็นตอนเช่น พิธีอัญเชิญพระอิศวรมาประทับเป็นประธานในพิธีกินเจ พิธีสักการะนพราชา พิธีปล่อยทหารเอกออกไปรักษามลฑณพิธี พิธีเลี้ยงอาหารทหาร พิธีเรียกทหารกลับ พิธีลุยไฟ พิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงชะตา และจบด้วยพิธีบวงสรวงดาวนพเคราะห์ ซึ่งพิธีกินเจบางแห่ง เช่นทางภาคใต้ของไทยมีการแสดงทรมานกาย มีการแสดงทางทหารเช่นการแสดงเอ็งกอ นั่นก็มาจากคณะงิ้วที่นำมาเผยแพร่นั่นเอง

การถือศีลกินเจในเทศกาลกินเจเดือน 9 ตามปฏิทินจีนตามข้างต้นนั้น เป็นความเชื่อที่ถือกันมาแต่โบราณ เป็นกุศโลบายของนักปราชญ์ ราชบัณฑิต ผู้มีกุศลจิตในสมัยนั้นที่ต้องการให้ผู้คนให้อยู่ในศีลในธรรม ถือศีลกินเจ ทำบุญทำทานเพื่อให้จิตใจอ่อนโยน มีความเมตตา กรุณาต่อมวลสัตว์โลกทั้งหลาย แม้ความเชื่อจะต่างกัน แต่ผลแห่งการกระทำนั้นคือจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ บุคคลทั่วไปควรจะลดละอกุศลกรรมทั้งมวล อุตสาหสะสมแต่สิ่งที่ดีงาม เพื่อรับพรจากเทพเจ้าทั้ง 9 กระองค์ ก็จักทำให้จิตใจเบิกบาน ผ่องแผ้ว มีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตสืบไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น